วันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2557

ปราสาทหินอำเภอสังขะ สุรินทร์




ปราสาทภูมิโปน อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทหินที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย


                            
ปราสาทภูมิโปน อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทหินที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย 
       ปราสาทภูมิโปน อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทหินที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

ปราสาทภูมิโปน อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทหินที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

ปราสาทภูมิโปน ปราสาทหินที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ปราสาทภูมิโปนตั้งอยู่ที่บ้านภูมิโปน ตำบลดม อำเภอสังขะ การเดินทางจากจังหวัดสุรินทร์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 2077 (สายสุรินทร์-สังขะ) ระยะทาง 49 กิโลเมตรจากแยกอำเภอสังขะเข้าทางหลวงหมายเลข 2124 (สังขะ-บัวเชด) ตรงต่อไปจนถึงบ้านภูมิโปนอีก 10 กิโลเมตร จะเห็นปราสาทอยู่ริมถนนด้านซ้ายมือ

                          
ปราสาทภูมิโปน


ปราสาทภูมิโปนประกอบด้วยโบราณสถาน 4 หลัง คือ

ปราสาทอิฐหลังที่ 1  อยู่ทางด้านเหนือสุด มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมไม่ย่อมุม เหลือเพียงฐาน กรอบประตูทางเข้า และผนังบางส่วน  ทับหลังและเสาประดับกรอบประตูทำด้วยหินทรายสลักลวดลาย ลักษณะเทียบได้กับศิลปะขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร แบบไพรเกมร มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่12-13 

ปราสาทหินหลังที่ 2  อยู่ต่อจากปราสาทหินหลังแรกมาทางใต้ ปัจจุบันเหลือเพียงฐานและกรอบประตูหินทราย

ปราสาทหินหลังที่ 3 หรือปรางค์ประธาน เป็นปราสาทหลังใหญ่ ก่อด้วยอิฐไม่สอปูน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสไม่ย่อมุม มีบันได และประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก อีกสามด้านเป็นประตูหลอก  เสาประดับ กรอบประตู และทับหลังทำด้วยหินทราย ใต้หน้าบันเหนือทับหลังขึ้นไปเป็นลายรูปใบไม้ม้วน รูปแบบและเทคนิคการก่อสร้าง เทียบได้กับปราสาทขอมสมัยก่อนพระนคร ร่วมสมัยกับปราสาทหลังที่ 1 ได้พบจารึกเป็นภาษาสันสกฤตด้วยอักษรปัลลวะ ซึ่งเคยใช้เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่12-13 ซึ่งสอดคล้องกับอายุของรูปแบบศิลปะของปราสาท นับเป็นปราสาทแบบศิลปะเขมรที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย 

ปราสาทหินหลังที่ 4  อยู่ต่อจากปราสาทประธานมาทางใต้ ปัจจุบันเหลือเพียงฐานศิลาแลงเท่านั้น ปราสาทหลังนี้และปราสาทหลังที่สองคงสร้างในสมัยต่อมาซึ่งไม่อาจกำหนดอายุได้ชัดเจน จากส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรม เช่น เสาประดับ กรอบประตูที่เหลืออยู่เป็นเสาแปดเหลี่ยมอันวิวัฒนาการมาจากเสากลมในสมัยก่อนเมืองนคร ตลอดจนการก่อฐานปราสาทด้วยศิลาแลง ทำให้สามารถกำหนดได้ว่า ปราสาททั้งสองหลังนี้คงจะสร้างขึ้นหลังจากปราสาทประธาน และปราสาทหลังที่หนึ่ง

ปราสาทภูมิโปนเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณหรือชุมชนโบราณที่มีระบบการปกครองแบบเมือง  สังเกตได้จากบริบทปราสาทมีคูกำแพงเมือง เขื่อนดินโบราณ และสระน้ำ โดยเฉพาะน้ำเป็นระบบชลประทานถูกออกแบบอย่างสวยงามไล่จากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ  มีจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ สระลำเจียก สระตา สระกนาล สระตราว และสระปรือ เรียงลำดับจากสระน้ำขนาดเล็กอยู่สูงสุด  และขนาดใหญ่หรือกว้างอยู่ต่ำสุดและเชื่อมต่อกัน นับว่าเป็นระบบการจัดการน้ำที่ดีมาก  ปัจจุบันยังไม่มีใครบุกรุก หรือครอบครอง ควรแก่การพัฒนา
ตำนานปราสาทภูมิโปน และ เนียง ด็อฮ ทม

ตำนาน เนียง ด็อฮ ทม ราชธิดาขอมผู้ปกครองเมืองภูมิโปนองค์สุดท้าย เป็นตำนานของปราสาทภูมิโปน อ.สังขะ จ.สุรินทร์ มีเรื่องเล่าว่า ที่สระลำเจียก ห่างจากตัวปราสาทไปทางทิศตะวันออกประมาณ 200 เมตร มีกลุ่มต้นลำเจียกขึ้นเป็นพุ่มๆ ต้นลำเจียกที่สระน้ำแห่งนี้ไม่เคยมีดอกเลย ในขณะที่ต้นอื่นๆนอกสระต่างก็มีดอกปกติ ความผิดปกติของต้นลำเจียกที่สระลำเจียกหน้าปราสาทจึงเป็นที่มาของตำนานปราสาทภูมิโปน การสร้างเมืองและการลี้ภัยของราชธิดาขอม

กษัตริย์ขอมองค์หนึ่งได้สร้างเมืองลับไว้กลางป่าใหญ่ชื่อว่าปราสาทภูมิโปน ต่อมาเมื่อเมืองหลวงเกิดความไม่สงบ มีข้าศึกมาประชิดเมือง กษัตริย์ขอมจึงส่งพระราชธิดาพร้อมไพร่พลจำนวนหนึ่งมาหลบซ่อนลี้ภัยที่ภูมิโปน พระราชธิดานั้นมีพระนามว่า พระนางศรีจันทร์ หรือ เนียง ด็อฮ ทม แต่คนทั่วไปมักเรียกนางว่า พระนางนมใหญ่

กล่าวถึงเจ้าเมืองอีกเมืองหนึ่งได้ส่งพรานป่าเจ็ดคน พร้อมเสบียงกรังและช้าง 1 เชือก ออกล่าจับสัตว์ป่าเพื่อจะนำมาเลี้ยงในอุทยานของพระองค์ พรานป่ารอนแรมจนมาหยุดพักตั้งห้างล่าสัตว์อยู่ที่ ตระเบีย็ง เปรียน แปลว่าหนองน้ำของนายพราน ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของบ้านตาพรามในปัจจุบั ในที่สุดกลุ่มพรานสามในเจ็ดคน ก็ดั้นด้นจนไปพบปราสาทภูมิโปน และไปได้ยินกิตติศัพท์ความงามของพระนางศรีจันทร์เข้า พรานทั้งเจ็ดจึงได้ปลักลอบแอบดูพระนางศรีจันทร์สรงน้ำ และเห็นว่านางมีความงามสมคำร่ำลือจริง จึงรีบเดินทางกลับเพื่อไปรายงานพระราชา พระราชายินดีปรีดามากรีบจัดเตรียมกองทัพเพื่อไปรับนางมาเป็นพระชายาคู่บารมี

ฝ่ายพระนางศรีจันทร์หลังจากวันที่ไปสรงน้ำก็เกิดลางสังหรณ์ กระสับกระส่ายว่ามีคนมาพบที่ซ่อนของนางแล้ว เมื่อบรรทมก็ฝันว่าได้ทำกระทงเสี่ยงทาย ใส่เส้นผมเจ็ดเส้น อันมีกลิ่นหอมเเละเขียนสาส์นใจความว่าใครเก็บกระทงของนางได้นางจะยอมเป็นคู่ครอง ในกระทงยังให้ช่างเขียนรูปของนางใส่ลงไปด้วย เมื่อตื่นขึ้นมานางจึงได้จัดการทำตามความฝัน(ด้วยการที่นางเอาผมใส่ในผอบเครื่องหอม ผมนางจึงหอม นางจึงได้ชื่อว่า เนียง ช็อก กระโอบ หรือนางผมหอมอีกชื่อหนึ่ง) และนำกระทงไปลอย ณ สระลำเจียกหน้าปราสาท กระทงของนางได้ลอยไปยังอีกเมืองหนึ่งชื่อว่าเมืองโฮลมาน และราชโอรสของเมืองนี้ได้เก็บกระทงของนางได้ ทันทีที่เจ้าชายเปิดผอบก็หลงรักนางทันที เจ้าชายโอลมานนั้นมีรูปร่างไม่หล่อเหลา แต่มีฤทธานุภาพมากในเรื่องเวทย์มนต์คาถาและได้ชื่อว่ารักษาคำสัตย์เป็นที่ตั้ง พระองค์จึงไปสู่ขอนางตามประเพณีเพราะเป็นผู้เก็บผอบได้ แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตร เมื่อพระนางศรีจันทร์ได้เห็นรูปร่างของเจ้าชายโฮลมานนางจึงได้แต่นิ่งอึ้งและร้องไห้ เจ้าชายโฮลมานทรงเข้าพระทัยดีเพราะรู้ตัวว่าตัวเองมีรูปร่างอัปลักษณ์ แต่ด้วยความรักที่พระองค์มีต่อพระนางศรีจันทร์ พระองค์จึงไม่บังคับที่จะเอาตัวนางมาเป็นชายา กลับช่วยพระนางขุดสระสร้างกำแพงเมือง และสร้างกลองชัยเอาไว้ เพื่อให้พระนางตียามมีเหตุเดือดร้อนต้องการให้พระองค์ช่วยเหลือ พระองค์จะมาช่วยเหลือนางโดยทันที โดยห้ามตีด้วยเหตุไม่จำเป็นเป็นอันขาด

กล่าวถึงชายหนุ่มอีกคนหนึ่งที่มาหลงรักพระนางศรีจันทร์ นั่นคือบุญจันทร์นายทหารคนสนิทที่พระราชบิดาของพระนางศรีจันทร์ไว้วางพระราชหฤทัยให้รับใช้ใกล้ชิดพระนางศรีจันทร์ ด้วยความใกล้ชิดทำให้บุญจันทร์หลงรักพระนางศรีจันทร์ แต่พระนางศรีจันทร์ก็ไม่ได้มีใจตอบกับบุญจันทร์ ยังคงคิดกับบุญจันทร์แค่เพื่อนสนิทเท่านั้น วันหนึ่งบุญจันทร์ได้เห็นกลองชัยที่เจ้าชายโฮลมานให้พระนางไว้ ก็นึกอยากตี จึงไปร่ำร้องกับพระนางทุกเช้าเย็น อยากจะขอลองตีกลอง พระนางทนไม่ไหวพูดประชดทำนองว่า ถ้าอยากตีก็ตีไป เพราะคงจะไม่ได้พบกันอีกแล้ว บุญจันทร์หน้ามืดตามัวด้วยคิดว่านางมีใจให้เจ้าชายโฮลมาน ก็ไปตีกลอง เจ้าชายโฮลมานและไพร่พลก็ปรากฏตัวขึ้นทันทีเพราะนึกว่าพระนางศรีจันทร์มีเหตุร้าย พระนางศรีจันทร์เสียใจมากเมื่อต้องบอกถึงเหตุผลที่ตีกลองให้เจ้าชายทราบ เจ้าชายโฮลมานตำหนิพระนางและเป็นอันสิ้นสุดสัญญาที่ให้ไว้กับพระนางทันที พระองค์จะไม่มาช่วยเหลือพระนางอีกแล้วแม้จะตีกลองเท่าไหร่ก็ตาม

กล่าวฝ่ายพระราชาที่ส่งพรานป่าเจ็ดคน มาล่าสัตว์แล้วมาพบพระนางในตอนแรกนั้นก็ส่งทัพมาล้อมเมืองภูมิโปนไว้ พระนางจึงหนีเข้าไปหลบภัยในปราสาทเเละคิดที่จะยอมตายเสียดีกว่า เพราะคนที่มาหลงรักพระนางแต่ละคนนั้น คนหนึ่งแม้จะเพียบพร้อมก็มีความอัปลักษณ์ คนหนึ่งก็มีความต่างศักดิ์ ด้านชนชั้นจนไม่อาจจะรักกันได้ และยังมีข้าศึกมาประชิดเมืองหมายจะเอาพระนางไปเป็นชายาอีก พระนางจึงพยายามหลบไปด้านที่มีการยิงปืนใหญ่ตั้งใจจะโดนกระสุนให้ตาย แต่พระนางก็กลับไม่ตายแต่ได้รับบาดเจ็บ แขนซ้ายหักและมีแผลเหนือราวนมด้านซ้ายเล็กน้อย(ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านดม-ภูมิโปนจะสังเกตเด็กผู้หญิงคนใดมีลักษณะแขนด้านซ้ายเหมือนเคยหัก และมีแผลเป็นเหนือราวนมด้านซ้าย จะสันนิษฐานว่าพระนางด็อฮ ทม กลับชาติมาเกิด) เมื่อพระราชาตีเข้าเมืองได้จึงรีบรักษานาง ไม่ช้าพระนางก็หาย พระราชาจึงเตรียมยกทัพกลับและจะนำพระนางกลับเมืองด้วย พระนางจึงขออนุญาตพระราชาเป็นครั้งสุดท้ายขอไปอาบน้ำที่สระลำเจียก และปลูกต้นลำเจียกไว้กอหนึ่งพร้อมกับอธิษฐานว่าถ้าพระนางยังไม่กลับมาที่นี่ขอให้ต้นลำเจียกอย่าได้ออกดอกอีกเลย หลังจากนั้นพระนางก็ถูกนำสู่นครทางทิศตะวันตก ไปทางบ้านศรีจรูก พักทัพและฆ่าหมูกินที่นั่น (ซี จรูกแปลว่ากินหมู) ทัพหลังตามไปทันที่บ้านทัพทัน (ซึ่งกลายเป็นชื่อบ้านในปัจจุบัน) และเดินทางต่อมายังบ้านลำดวน พักนอนที่นั่น มีการเลี้ยงฉลองรำไปล้มไป รำล้มในภาษาเขมรคือ เรือ็ม ดูล ซึ่งเป็นชื่อของ อ.ลำดวนในปัจจุบัน
(ข้อมูลและภาพจากองค์การบริหารส่วนตำบลดม www.tambondom.go.th)


ที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
http://news.edtguide.com/2217_
...................................................................................................................................................................
ปราสาทสังข์ศิลป์ชัย

ตั้งอยู่ที่บ้านจาน  ต.กระเทียม  อ.สังขะ  จ.สุรินทร์
ลักษณะเป็นปราสาทองค์เดียวขนาดค่อนข้างใหญ่  แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสองตั้งอยู่บนฐานสูง  ปัจจุบันหักพังเหลือผนังเพียงบางส่วนและกรอบประตูด้านทิศตะวันออก  สิ่งสำคัญของปราสาทหลังนี้คือทับหลังที่พบบริเวณด้านหน้า  มีขนาดใหญ่กว่าที่เคยพบทั่วไป คือ ขนาดยาว 2.70 ม.  สูง 1.10 ม.  สลักเป็นลายพวงมาลัยประกอบด้วยลายใบไม้ม้วนและเทพนม  ตรงกลางสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ แนวทับหลังตอนบนเป็นภาพเทพนมในซุ้มเรือนแก้ว 10 ซุ้มเรียงกัน  จัดเป็นทับหลังที่สวยงามอีกชิ้นหนึ่ง  ได้รับอิทธิพลศิลปะเขมรแบบพะโค อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15  (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2544 :หน้า 47)  ปราสาทแห่งนี้มีตำนานที่เกี่ยวข้องเช่นเดียวกัน  ซึ่งได้กล่าวไว้ในส่วนของตำนานและนิทานเมืองสุรินทร์
ที่มาข้อมูล http://www.mapculture.org/mambo/index.php?option=com_content&task=view&id=234&Itemid=57
...................................................................................................................................................................

ปราสาทมีชัย
ตั้งอยู่ที่บ้านถนน  ต.กระเทียม  อ.สังขะ  จ.สุรินทร์ 
ปราสาทมีชัยหรือหมื่นชัย  เป็นปราสาทองค์เดียวก่อด้วยอิฐ  มีประตูเข้าทางด้านทิศตะวันออก  กรอบประตูและทับหลังทำด้วยหินทราย  มีสระน้ำล้อม ด้าน  ยกเว้นทางทิศตะวันออก  ปัจจุบันเหลือเพียงผนังบางส่วนและฐาน


ที่มาข้อมูล http://www.surinpao.org/index.php?action=read&mod=menu&Id=128#.UxmrEOOSyVI
...................................................................................................................................................................
ปราสาทยายเหงา
อยู่ที่ บ้านพูนทราย ตำบลบ้านชบ อำเภอสังขะ ห่างจาก ที่ว่าการอำเภอ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ริมถนน สายโชคชัย - เดชอุดม (ทางหลวงหมายเลข 24) ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 189 - 190 จะมีป้าย บอกทาง จากถนนใหญ่เข้าไป เป็นทางคอนกรีต ปนทรายประมาณ 800 เมตร
ปราสาทยายเหงา เป็นศาสนสถาน แบบขอม ที่ประกอบด้วยปรางค์ 2 องค์ ตั้งอยู่เรียงกัน ในแนว ทิศเหนือ-ใต้ หันหน้า ไปทาง ทิศตะวันออก องค์ปรางค์ก่อด้วยอิฐ ตั้งอยู่บน ฐานศิลาแลง มีการแกะสลักอิฐ เป็นลวดลาย เช่น ที่กรอบหน้าบัน เป็นรูปมกร (สัตว์ผสม ระหว่างสิงห์ ช้าง และปลา) คาบนาค 5 เศียร
จากลักษณะ แผนผังของอาคาร ปราสาทยายเหงา น่าจะประกอบด้วย ปรางค์ 3 องค์ ตั้งเรียงกัน แต่ปัจจุบัน เหลือเพียง 2 องค์เท่านั้น ภายในบริเวณปราสาท พบกลีบขนุนยอดปรางค์ เสาประดับกรอบประตู ฯลฯ แกะสลักจากหินทราย จัดแสดงไว้ อย่างเป็นระเบียบ บริเวณด้านหน้าปราสาท
                                   
สมัยก่อนมีคุณยายคนหนึ่งสามีไปออกศึกสงครามนานนมก็ไม่ได้กลับมาสักที ยายอยู่รอที่บ้านก็เลยสร้างปราสาทคอย แต่ไม่ปรากฏว่ายายได้พบกับตาหรือไม่ และปราสาทก็ดูเหมือนจะสร้างไม่แล้วเสร็จ ตำนานนี้เป็นเพียงเรื่องเล่าต่อๆ กันมา
ปราสาทยายเหงานี้มีภูมิลำเนาที่ บ้านสังขะ ตำบลสังขะ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ มีลักษณะเป็นปรางปราสาท ปรากฏอยู่ 2 หลัง หากดูตามการก่อสร้างอาจมีอีก 1 ปรางปราสาทแต่ยังไม่ได้เริ่มสร้าง ก่อด้วยอิฐ เป็นศิลปะแบบเขมร สร้างเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-17 ปัจจุบันปราสาทยายเหงาได้รับการบูรณะ ขุดแต่งแล้วเสร็จตามโครงการเมื่อไม่นานมานี้
ที่มาข้อมูล http://th.wikipedia.org/wiki/
.....................................................................................................................................................................................................

ปราสาทหินในอำเภอสนม จ.สุรินทร์

                  ปราสาทบ้านสนม หรือ ปราสาทวัดธาตุ เป็นปราสาทตั้งอยู่ในวัดธาตุ บ้านสนม อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ คาดว่าสร้างสมัยอาณาจักรขอมเรืองอำนาจประมาณ พ.ศ. 1800 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน พระองค์โปรดให้สร้างที่พักคนเดินทาง และสร้างอโรคยาศาล หรือสถานพยาบาลขึ้นในชุมชนต่าง ๆ มากมาย ปราสาทแห่งนี้มีขนาดโดยประมาณ กว้าง 20 เมตร ยาว 25 เมตร สูงประมาณ 5 เมตร สร้างด้วยศิลาแลงและหินทราย อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม เดิมมีต้นไม้ขนาดใหญ่ ประมาณ 2 - 3 โอบ จำนวนมาก ได้แก่ ประดู่ ตะแบก ยาง ตะคร้อ ตาเสือ คำไก่ ซึ่งปราสาทหลังนี้มองจากทุ่งนา นอกบ้านเห็นเด่นชัด บริเวณรอบ ๆ ปราสาทมีสระน้ำเรียงรายทั้งสี่ด้าน ในบริเวณวัด ในบริเวณปราสาท ทางวัดได้รื้อปราสาทลง และก่อสร้างอุโบสถแทน เมื่อ พ.ศ. 2478 และนำชิ้นส่วนปราสาทไปทิ้งไว้ด้านหลังวัด อดีตเคยขุดได้พระพุทธรูปปางต่าง ๆ และเทวรูป ปัจจุบันมี 2 องค์ 1 องศ์ อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ และอีก 1 องค์ อยู่ที่ศาลเจ้าพ่อศรีนครเตาท้าวเธอ คาดว่าสร้างสมัยเดียวกับปราสาทจอมพระ แต่รูปร่างเป็นแบบเดียวกันกับปราสาทศีขรภูมิ

ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/

ปราสาทหินในอำเภอปราสาท จ.สุรินทร์


                                                                  ปราสาทบ้านไพล

 ปราสาทบ้านไพล ตั้งอยู่ที่บ้านปราสาท ตำบลเชื้อเพลิง อำเภอปราสาท ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศตะวันออก เฉียงเหนือประมาณ 10 กม. (ห่างตัวเมืองสุรินทร์ 22 กม. จาททางหลวง 214 เข้าไป กม.)  ตัวปราสาทมีลักษณะเป็นปรางค์ 3 องค์ สร้างด้วยอิฐขัดตั้งเรียง เป็นแนวเดียวกัน ปราสาทบ้านไพล เป็นศาสนสถานแบบศิลปขอม ที่สร้างถวายแด่พระอิศวร เทพสูงสุดของศาสนาพราหมณ์ ประกอบด้วยปราสาทอิฐ 3 หลัง ตั้งอยู่บนฐานหินแลงอันเดียวกัน มีคูน้ำล้อมรอบ ยกเว้นทางเข้าด้านทิศตะวันอก แม้ว่าศิวลึงค์และทับหลังบางส่วนจะหายไป แต่จากเศษทับหลังที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ทำให้ทราบว่าปราสาทหลังนี้ คงสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16





ปราสาทบ้านพลวง 

ปราสาทหินบ้านพลวง ตั้งอยู่ที่บ้านพลวง ตำบลกังแอน ห่างจากที่ว่าการอำเภอปราสาท 4 กิโลเมตรตามถนนสายสุรินทร์-ปราสาท-ช่องจอม (ทางหลวงหมายเลข 214) มีทางแยกซ้ายมือที่กม. 34-35 ไปอีกราว 1 กิโลเมตร ปราสาทหินบ้านพลวง เป็นปราสาทหินขนาดเล็ก แต่ฝีมือการสลักหินประณีตงดงามมาก ได้รับการขุดแต่งบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2515 โดยวิธีอนัสติโลซิส คือการรื้อตัวปราสาทลง เสริมความมั่นคง และประกอบขึ้นใหม่ดังเดิม ลักษณะของปราสาทหินองค์นี้เป็นปรางค์องค์เดียว ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูทางเข้าด้านหน้าเพียงด้านเดียว ส่วนด้านอื่นอีกสามด้านทำเป็นประตู หลอก องค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาแลง หินทราย และมีอิฐเป็นวัสดุร่วมก่อสร้างในส่วนบนของปราสาท โบราณสถานแห่งนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมจำหลักลายงดงามมาก แต่องค์ปรางค์เหลือเพียงครึ่งเดียว ส่วนยอดหักหายไป มีคูน้ำเป็นรูปตัวยูล้อมรอบ ถัดจากคูน้ำเป็นบาราย (สระน้ำขนาดใหญ่) ที่เห็นเป็นคันดิน เดิมคงเป็นที่ตั้งของแหล่งชุมชนมาก่อนลักษณะของทับหลังที่พบส่วนมาก สลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอยู่ภายในซุ้มเหนือหน้ากาล มีซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ ส่วนทางด้านเหนือสลักเป็นรูปพระกฤษณะฆ่านาค

ที่มาข้อมูล
http://www.thai-tour.com/thai-tour/northeast/surin/data/place/prasat.htm
.............................................................................................................................................................
ปราสาททนง ตั้งอยู่ที่บ้านปราสาททนง ตำบลปราสาททนง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ โดยปราสาททนง เป็นปราสาทที่มีลักษณะเป็น อาคารขนาดใหญ่ ก่อสร้างด้วยอิฐปนหินทรายและศิลาแลง จำนวน 2 กลุ่ม ตั้งเรียงกันหันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามลำดับ คือ พลับพลา และปราสาทประธาน 
                     
 
     พลับพลา ตั้งอยู่หน้าปราสาทประธาน มีสภาพชำรุดเหลือเพียงฐานบัวก่อด้วยศิลาแลง มีบันไดทางขึ้น-ลง 10 บันได ปราสาทประธาน ตั้งอยู่บนฐานปีกกาก่อด้วยศิลาแลง ทำให้สูงกว่าพลับพลา 
 
     ซึ่งปัจจุบันสภาพปราสาทประธานชำรุดมาก ประกอบด้วยอาคารสำคัญ 3 หลัง คือ ปราสาทประธานสำหรับประดิษฐานเทวรูปและมีบรรณาลัยหรือวิหาร 2 หลัง และที่สำคัญคือ พบทับหลังหินทรายแบบศิลปะเขมรสมัยบาปวน (ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16 ต้นพุทธศตวรรษที่ 17) จำนวนหลายชิ้น 

ข้อมูลโดย : 
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ 

ปราสาทหินอำเภอพนมดงรัก สุรินทร์


  ปราสาทตาควาย  หรือ  ปราสาทกรอเบย (กระบือ) ตั้งอยู่บริเวณช่องตาควาย ในเขตบ้านไทยนิยมพัฒนา หมู่ 17 ตำบลบักได อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เป็นปราสาทหินศิลาแลง ตั้งทางด้านทิศตะวันออกของปราสาทตาเมือนธม ห่างไปประมาณ 12 กิโลเมตร

 

ปราสาทตาควายตั้งอยู่บนสันเขาห่างจากหน้าผาสูงประมาณ 10 เมตร ของเทือกเขาพนมดงเร็ก เป็นปราสาทจตุรมุข ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ผังของปราสาทเป็นรูปกากบาท ส่วนฐานต่ำ ส่วนล่างสุดก่อด้วยศิลาแลง ส่วนบนก่อด้วยศิลาทรายทั้งหมด หลังคาห้องครรภคฤหะ ก่อเป็นทรงพุ่มยอดปรางค์ ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 5 ชั้น ส่วนหลังคามุขก่อเป็นรูปประทุน จรดหน้าบันทั้ง 4 ด้าน ภายในห้องมีประติมากรรม ลักษณะคล้ายสวายยัมภูวลึงค์ 1 ชิ้น

 


ปราสาทตาควายเป็นปราสาทหลังเดียวโดดๆ ไม่ปรากฏว่ามีอาคารประกอบอื่นๆ เช่น ระเบียงคด บรรณาลัย หรือโคปุระ   ตัวปราสาทก่อด้วยหินทราย คะเนด้วยสายตาว่าน่าจะมีความสูงประมาณ 12 - 15 เมตรจากพื้นดิน (ไม่รวมส่วนฐานที่คงยังฝังจมอยู่ในดิน) มีประตูทางเข้าสี่ด้าน ทุกด้านเป็นช่องประตูจริง มีมุขยื่นออกมาทางด้านหน้า (ตะวันออก) เป็นมุขสั้นๆ ปัจจุบันพังทลายลงมาบางส่วน   สภาพของปราสาทตาควายนับว่าสมบูรณ์มาก คือชั้นหลังคายังอยู่ทั้งหมดจนถึงบัวยอด แต่การก่อสร้างปราสาทแห่งนี้ยังไม่แล้วเสร็จ เพียงก่อขึ้นรูปไว้เท่านั้น ยังมิได้ขัดแต่งผิวหิน หรือแกะสลักลวดลายใดๆ ซึ่งนั่นเองอาจเป็นเหตุให้ปราสาทยังคงรูปอยู่ได้ โดยไม่ถูกทำลาย หรือลักลอบกะเทาะชิ้นส่วนต่างๆ ไป เช่นที่เกิดขึ้นกับปราสาทอื่นๆ ตามแนวชายแดน เช่นปราสาทตาเมือนธม   การที่ไม่ปรากฏลวดลายอย่างหนึ่งอย่างใดเลยนี้ ทำให้กำหนดอายุปราสาทตาควายได้แต่เพียงกว้างๆ จากรูปทรงของตัวปราสาท ว่าน่าจะอยู่ในราวช่วงปลายสมัยนครวัด ต่อตอนต้นสมัยบายน หรือรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ถึงรัชกาลพระเจ้า
ชัยวรมันที่ 7
  


ปราสาทหินแห่งใหม่ที่พบในป่าทึบนี้เรียกกันตามชื่อช่องเขาว่า "ปราสาทตาควาย" แต่เนื่องจากการเก็บกู้กับระเบิดในบริเวณนั้นยังไม่เสร็จสิ้น ทั้งยังเป็นเขตที่มิได้มีการปักปันพรมแดนกันอย่างชัดเจนการเดินทางเข้าไปยังปราสาทตาควาย จึงจำเป็นต้องติดต่อประสานกับทางหน่วยทหารพรานของกองกำลังสุรนารีในพื้นที่เพื่อขอกำลังอารักขาดูแลความปลอดภัย ทำนองเดียวกันกับการเข้าไปยังกลุ่มปราสาทตาเมือนในช่วงสิบกว่าปีก่อน


  

แม้ว่าสัมพันธภาพระหว่างหน่วยทหารพรานของไทย กับกำลังตำรวจของกัมพูชาจะเป็นไปด้วยดี มีการเยี่ยมเยียนไปมาหาสู่ และออกลาดตระเวนร่วมกันเสมอหากแต่การจะพัฒนาปราสาทตาควายให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ หรือแม้แต่การที่จะมีนักท่องเที่ยวไทยเข้าไปกันเป็นจำนวนมากนั้น ย่อมไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายกัมพูชานัก ดังปรากฏท่าทีว่าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2544 หนังสือพิมพ์ของกัมพูชา อย่างน้อยสองฉบับ ก็เคยลงข่าวว่ากองกำลังของไทยลักลอบนำสารเคมีมาโปรยที่ปราสาทกรอเบย (กระบือ - ควาย) ในเขตเทือกเขาพนมดงรัก ทำให้ตัวปราสาทพังทลายลงมา หนังสือพิมพ์ มนสิการเขมร เสริมด้วยว่า "ประเทศไทยกำลังทำสงคราม ทำลายวัฒนธรรม และทำสงครามช่วงชิงดินแดนของประเทศกัมพูชาแล้ว"

 
ทำไมถึงชื่อปราสาทตาควาย นายประจวบ เสงี่ยมทรัพย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบักไดบอกว่า ชาวบ้านเล่าต่อๆ กันมาว่า มีชาวบ้านส่องสัตว์ตอนกลางคืน เห็นตาควายจึงเดินเข้าไปปรากฏว่าเป็นปราสาทเรื่องลักษณะนี้ “ก็เหมือนกับปราสาท ตาเมือนที่ชาวบ้านเห็นไก่เมื่อตามเข้าไปก็พบปราสาท” มูลเหตุที่เป็นเช่นนี้นายประจวบวิเคราะห์ว่า เพราะที่ตั้งของปราสาททั้งสองอยู่ในป่าทึบ เป็นที่อยู่ของสัตว์ต่างๆ นั่นเอง


 


ที่มาของข้อมูล http://websanom.blogspot.com/2012/06/blog-post.html
...................................................................................................................................................................

                                       
ปราสาทตาเมือนธม เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่ม (ธม เป็นภาษาเขมร แปลว่า ใหญ่) ตัวปราสาทอยู่บนเนินเขาสร้างคร่อมโขดหินธรรมชาติที่ศักดิ์สิทธิ์ในรูปของสยัมภูศิวลึงค์ และเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรม
ตัวปราสาทตาเมือนธม หันหน้าไปทางทิศใต้ ผิดแผกจากแห่งอื่นซึ่งมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก รับกับเส้นทางที่มาจากเขมรต่ำผ่านมาทางช่องทางตาเมือนนี้
ปราสาทตาเมือนธมประกอบด้วยปราสาทประธาน มีอาคารอื่น คือปรางค์ก่อด้วยหินทรายสองหลัง อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงเหนือของปราสาทประธาน มีบรรณาลัยศิลาแลงสองหลัง และนอกระเบียงคดทางทิศเหนือ มีสระน้ำขนาดเล็กสองสระ
ปราสาทแห่งนี้อยู่ใกล้เขตชายแดนเขมรมากที่สุด การเที่ยวชมจึงควรอยู่เฉพาะภายในเขตปราสาทเท่านั้น ไม่ควรเดินออกไปไกลจากแนวต้นไม้รอบปราสาทเพราะพื้นที่นี้ยังไม่ปลอดภัยนัก  
                                           
ปราสาทตาเมือนโต๊ด ตั้งอยู่ในช่องเขาตาเมือน (หรือช่องเขาตาเมียง) เทือกเขาพนมดงรัก ในเขตบ้านหนองคันนาสามัคคี หมู่ 8 ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เป็นปราสาทหลังหนึ่งในกลุ่มปราสาทตาเมือน ซึ่งประกอบด้วยปราสาทหินสามหลัง เรียงลำดับจากขนาดใหญ่ไปขนาดเล็ก คือ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาเมือน
ปราสาทตาเมือนโต๊ด อยู่ห่างจากปราสาทตาเมือนธม ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 750 เมตร และอยู่ห่างจากปราสาทตาเมือน ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 390 เมตร ก่อด้วยศิลาแลง มีกำแพงล้อมรอบและมีสระน้ำขนาดเล็กอยู่ทางทิศเหนือหนึ่งสระ เชื่อกันว่าปราสาทแห่งนี้เป็นอโรคยาศาล หรือ สถานรักษาพยาบาลของชุมชน หรือตามรายทางที่เป็นเส้นทางคมนาคม ซึ่งนิยมสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
                                        
ปราสาทตาเมือน หรือ ปราสาทบายกรีม ตั้งอยู่ในช่องเขาตาเมือน (หรือช่องเขาตาเมียง) เทือกเขาพนมดงเร็ก ในเขตบ้านหนองคันนาสามัคคี หมู่ 8 ตำบลบ้านตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เป็นปราสาทขนาดเล็กที่สุดในกลุ่มปราสาทตาเมือน ซึ่งประกอบด้วยปราสาทหินสามหลัง เรียงลำดับจากขนาดใหญ่ไปขนาดเล็ก คือ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาเมือน
ปราสาทตาเมือน อย่ห่างจากปราสาทตาเมือนโต๊ด ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 390 เมตร เป็นปราสาทที่เล็กที่สุด ก่อด้วยศิลาแลง มีลักษณะเป็นห้องยาว เชื่อว่าเป็นธรรมศาลา หรือที่พักสำหรับคนเดินทาง
ที่มาข้อมูล http://th.wikipedia.org/wiki/